HTML กับ PHP มันต่างกันยังไงและทำงานร่วมกันได้อย่างไร ก็ยังมีหลายๆคนที่ถามกันเข้ามา เมื่อเราต้องการเขียนภาษา php สิ่งแรกที่เราต้องมีคือเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่สามารถรัน php ได้ แต่ถ้าเราไม่มีเซิร์ฟเวอร์ก็สามารถจำลองเครื่องเราเป็นเซิร์ฟเวอร์โดยการติดตั้ง Appserv ไว้ที่เครื่องของเราและทดลองรันภาษา php ได้ แต่ในที่นี้เราจะมาพูดถึงการใช้งานร่วมกันระว่าง PHP กับ HTML ถ้ามองในทางโปรแกรมเมอร์แล้ว HTML มันไม่สามารถจะโปรแกรมได้ แต่มันเก่งในเรื่องของการแสดงผลอย่างเดียว ดูจากชื่อก็น่าจะเดาออกแล้ว (HTML = Hypertext Markup Language ) เมื่อสมัยก่อนที่เว็บยังอยู่ในยุคแรกๆ มีการใช้งาน HTML อย่างแพร่หลาย แต่การใช้งานในขณะนั้นทำได้เพียงนำเสนอข้อมูลอย่างเดียว เวลาจะมีการอัพเดทแต่ละครั้งแอดมินก็จะต้องทำการแก้ไขไฟล์ HTML จึงจะมีการอัพเดทข้อมูลเกิดขึ้น ยิ่งถ้ามีเว็บเพจหลายๆเพจ รับรองว่าแอดมินแก้ไม่หวาดไม่ไหวแน่นอน
ดังนั้นก็เลยมีการใช้งาน PHP ซึ่งมันสามารถโปรแกรมได้ และสามารถติดต่อกับฐานข้อมูล ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลมาแสดงผลได้ตามเงื่อนไขได้ เพียงแค่เราสร้างไฟล์ PHP ไฟล์เดียว ก็สามารถแสดงผลข้อมูลได้ไม่ซ้ำ ตามจำนวณข้อมูลที่มีอยู่ในฐานข้อมูลนั่นเอง
ถ้าหากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็อย่างเช่น โปร์ไฟล์ Facebook ของเรา สังเกตุว่าโปรไฟล์แต่ละคนก็จะมีโครงสร้างคล้ายๆกัน แต่จะแตกต่างกันก็ตรงที่ข้อมูลที่แสดงผลเท่านั้นเอง นั่นก็เพราะความสามารถของ PHP ที่โปรแกรมเอาไว้ว่า โปรไฟล์ของแต่ละคนจะแสดงผลอย่างไร และจะเอาข้อมูลอะไรมาแสดงผลได้นั่นเอง
ถ้าย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่า “php กับ html ต่างกันอย่างไร” เราก็เลยสรุปและตอบคร่าวๆไปได้ว่า html และ php มันต่างกันที่ html จะเอาไว้สำหรับการแสดงผล ไม่สามารถจะทำการโปรแกรมได้ ส่วน php นั้น มีความสามารถตรงที่สามารถโปรแกรมได้ เมื่อต้องการแสดงผลข้อมูลที่โปรแกรมออกมาแล้วให้ดูง่ายๆ และสวยงามก็ต้องพึ่งเจ้า HTML นั่นเอง
และถ้าหากถามว่า “แล้วจะใช้ HTML และ PHP ร่วมกันได้อย่างไร” คำตอบก็คือ ในการใช้งานร่วมกันระหว่าง HTML และ PHP เราจะต้องสร้างไฟล์ที่มีนามสกุล .php ซึ่งเป็นการบอกให้เซิร์ฟเวอร์ที่เรารันไฟล์ดังกล่าวทราบว่าข้างในมีการแทรกคำสั่งในภาษา PHP เอาไว้ และขณะเดียวกันในไฟล์ .php ที่เราสร้างขึ้นนี้ก็สามารถแทรก HTML เข้าไปได้เลย